เลี้ยงลูกผิดตรงไหน ? ทำไม “ยิ่งโต ยิ่งดื้อ”

เด็ก

เลี้ยงลูกผิดตรงไหน ? ทำไม “ยิ่งโต ยิ่งดื้อ”

รวมถึงเด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ทำให้ยินยอมที่จะเรียนรู้และทำตามสิ่งที่พ่อแม่สอน หากปล่อยให้ไปถึงวัยรุ่นแล้วจะไม่ทัน เพราะในวัยนั้นเด็กจะเริ่มต้องการการยอมรับจากเพื่อนไม่ใช่พ่อแม่ ทำให้ยากที่จะฝึกวินัยให้เด็กแล้ว

เด็ก

สอนและฝึกวินัยให้ลูกได้อย่างไร

1. กำหนดกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างเหมาะสมตามวัย และให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดกฎเกณฑ์นั้น

การเรียนรู้และทดลองต่าง ๆ ของเด็กสามารถทำได้โดยที่พ่อแม่ต้องตกลงกับลูกก่อนว่า ทำได้ในขอบเขตแค่ไหนและเพราะอะไร ทางที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ให้คำอธิบายถึงข้อดี ข้อเสียของสิ่งที่จะเกิดขึ้น บอกกติกาอย่างชัดเจน เช่น ลูกสามารถเล่นในสนามเด็กเล่นได้อย่างอิสระ แต่ไม่ออกไปเกินพื้นที่ตรงไหน เพราะอะไร ที่สำคัญที่สุดอย่าใช้คำสั่ง การบังคับ และห้ามไม่ให้ทำ เพราะนั่นจะเป็นการท้าทายให้เด็กอยากจะทำมากยิ่งขึ้น

เช่น การกำหนดให้เด็กเข้านอนตอน 2-3 ทุ่ม ควรมีการพูดคุยกับเด็กก่อนว่า หนูต้องนอนพักผ่อนเพื่อที่ตัวจะได้สูง ๆ หนูอยากเข้านอนตอน 2 ทุ่ม หรือ 3 ทุ่มคะ แม่ให้หนูเลือกเอง ซึ่งตัวเลือกที่จะให้เด็กเลือกนั้นควรระบุให้ชัดเจน

(เวลาตกลงกับเด็กอย่าให้เลือกว่า เอาหรือไม่เอา เพราะพอเด็กๆ เลือกไม่เอา แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ เด็กจะสับสนว่าแล้วให้เลือกทำไม ในเมื่อเขาเลือกแล้ว พ่อแม่ก็ไม่สนใจความต้องการของเขา)

2. ใช้คำพูดที่เป็นทางบวกและเข้าใจง่าย ในการสื่อสารความต้องการและอธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเด็ก

คำว่า “อย่า…นะ” สำหรับเด็กเล็ก จะไม่เป็นผลเท่าที่ควร เพราะเด็กต้องแปลความหมายก่อน และมักจะไม่ทันกับการกระทำที่เด็กกำลังทำอยู่ เช่น การที่แม่บอกลูกว่า “อย่าวิ่งนะ อันตราย” กับการบอกลูกว่า “ลูกเดินข้าง ๆ แม่นะคะ แม่อยากให้หนูเดินเป็นเพื่อนแม่”

ประโยคแรกเด็กต้องแปลความหมาย ในขณะที่ประโยคหลังเด็กสามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่อได้ยิน ในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ กับเด็กก็เช่นกัน หากเราใช้คำที่ง่าย (แต่ต้องเป็นความจริง อย่าหลอกเด็ก) เด็กจะสามารถเข้าใจได้ตามวัยของเขา

3. คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ

เด็ก ๆ มักจะเลียนแบบตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัว ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นต้นแบบที่เด็กสามารถเห็นได้ตลอดเวลา ถ้าอยากให้เด็กเป็นอย่างไร ทำให้ลูกดูคือสิ่งที่ง่ายที่สุดค่ะ และที่สำคัญควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กยอมรับและจดจำได้ เช่น อยากให้เด็กไหว้ทักทายผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องไหว้ทักทายคนอื่น ๆ ให้เด็กเห็นเป็นประจำ

4. ให้ลูกรู้จักรอคอย

การตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างรวดเร็วเกินไปจะทำให้เด็กคอยไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้ทันที พ่อแม่จึงควรฝึกให้เด็กรู้จักรอคอย เช่น “หนูอยากกินขนมที่ซื้อมาเมื่อวานใช่ไหมคะ รอแม่ทำกับข้าวเสร็จแล้วแม่ไปหยิบให้นะคะ”

หรือแม้แต่การพาเด็ก ๆ ไปต่อคิวซื้ออาหาร ต่อคิวจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ก็เป็นการฝึกการรอคอยที่ดี

นอกจากนี้ การซื้อของเล่นให้เด็กตามวาระโอกาสที่เหมาะสม ก็สามารถฝึกการรอคอยได้เช่นกัน เช่น ตกลงกับเด็กว่าจะซื้อของเล่นให้ในโอกาสวันเกิด วันปีใหม่ วันเด็ก เท่านั้น หากอยากได้ของเล่นในโอกาสอื่น ๆ จะต้องมีข้อตกลง เช่น เก็บดาวความดีที่แม่ให้ครบ … ดวง จึงจะซื้อของเล่นพิเศษได้ 1 ชิ้น เป็นต้น

5. ปฏิบัติกับเด็กด้วยการยอมรับความต้องการ เข้าใจ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

เด็กต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ ดังนั้น การรับฟังเด็กว่าเขารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่าเหตุใดจึงได้ เหตุใดจึงไม่ได้ จะช่วยให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่รับฟังเขา ยอมรับความต้องการของเขา การเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ ก็จะลดลง (ถึงจะไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ตาม)

แต่ที่สำคัญ คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติกับเด็กให้เหมือนกัน เช่น ถ้าคุณแม่บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ คุณพ่อก็ต้องตอบเหมือนกัน เพราะถ้าคนหนึ่งไม่ให้ คนหนึ่งใจอ่อนให้ เด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้ว่าสิ่งใดได้ สิ่งใดไม่ได้ การสอนก็จะไม่ได้ผล

แนะนำข่าวเด็กเพิ่มเติม : ทักษะทางสังคมสำหรับลูกรัก 6 วิธีสอนลูกให้รู้จัก การรอคอย